ประวัติโรงเรียนพุทไธสง
โรงเรียนพุทไธสงเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ โรงเรียนระดับอำเภอ
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 โดยอาศัยศาลาการเปรียญวัดมณีจันทร์ หมู่ที่ 1 ตำบลมะเฟือง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นสถานที่เรียนชั่วคราว เปิดทำการสอนปีแรกเฉพาะมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 จำนวน 1 ห้องเรียน นักเรียน 45 คน ภาคเรียนที่ 2 รับนักเรียนเพิ่มอีก 25 คน รวมเป็น 2 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 70 คน มีครู 2 คน คือ
1. นายจำรูญ มณีวรรณ เป็นครูใหญ่
2. นายเกษม เฮงสวัสดิ์ ครูปฏิบัติการสอน
ปลายปี พ.ศ. 2493 ได้บรรจุครูเพิ่มอีก 1 คน คือ นายวิโรจน์ อาจจำนงค์
ปลายปี พ.ศ. 2494 ทางราชการได้มอบพื้นที่ทางโรงเรียนราษฎร์วิศิษฎ์วิทยา (เอกชน) ให้เป็นสมบัติของโรงเรียน จึงได้ย้ายสถานที่การศึกษาเข้ามาทำการเรียนการสอน ปัจจุบันเป็น บ.ข.ส. พุทไธสง และได้ขยายห้องเรียนเพิ่มขึ้นอีกเป็น 4 ห้องเรียน
ปี พ.ศ. 2495 โรงเรียนจึงได้ย้ายสถานการศึกษามาปฏิบัติการเรียนการสอน ณ ที่ตั้งโรงเรียนบ้าน พุทไธสง (อนุบาลบ้านพุทไธสง) ตั้งอยู่
หมู่ที่ 1 ตำบลพุทไธสง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เดิมเป็นวัดร้าง โรงเรียนได้ขยายห้องเรียนเพิ่มขึ้นในปีการศึกษาต่อ ๆ มาตามลำดับ
ปี พ.ศ. 2498 นักเรียนจบชั้นประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) เป็นนักเรียนรุ่นแรกที่เรียน จบชั้นสูงสุดของโรงเรียน จำนวน 63 คน
ปี พ.ศ. 2511 โรงเรียนเปลี่ยนแปลงการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ 2503 มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ระดับชั้นละ 3 ห้องเรียน รวม 9 ห้องเรียน มีนักเรียน 273 คน ครู 16 คน และภารโรง 3 คน ในปีนี้เองโรงเรียนได้รับคัดเลือกเข้าเป็นโรงเรียนในโครงการปรับปรุงโรงเรียนมัธยมศึกษาในชนบท (คมช) รุ่นที่ 5
วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสามัญศึกษาในสมัยนั้น ได้มาตรวจเยี่ยมโรงเรียนเห็นว่าบริเวณโรงเรียนแห่งเก่าคับแคบ จึงให้หาที่แห่งใหม่เพื่อขยายโรงเรียนในโอกาสต่อไป นายบุญนาค เจริญศรี นายอำเภอ และนายจรูญ มณีวรรณ อาจารย์ใหญ่สมัยนั้น ได้นำอธิบดีกรมสามัญศึกษา ไปเลือกที่แห่งใหม่อยู่ในเขตบ้านเตย หมู่ที่ 4 ตำบลพุทไธสง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินอำเภอซื้อไว้เพื่อสร้างสนามกีฬาประชาชน มีเนื้อที่ 24 ไร่ 55 ตารางวา ที่ดินว่างเปล่า 2 ไร่ 68 ตารางวา รวมทั้งที่ดินสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 ที่โรงเรียนทำเรื่องขอใช้จากราชพัสดุ จังหวัดบุรีรัมย์ ประมาณ 8 ไร่เศษ และคณะศิษย์เก่าหาเงินซื้อ รวม 79 ไร่ 2 งาน 94 ตารางวา
ปี พ.ศ. 2511 บริเวณที่เป็นวัดร้างมีเนื้อที่ 14 ไร่ 90 ตารางวา เป็นที่เนินสูงรอบ ๆ เป็นที่ราบลุ่ม โรงเรียนต้องแผ้วถางขุดตอ ทำลายจอมปลวก ปราบโนนสูงลงประมาณ 2 เมตรเศษ เพื่อนำดินมาถมที่ลุ่ม สร้างอาคารเรียน 2 หลัง หอประชุม 1 หลัง บ้านพักครู 3 หลัง โรงฝึกงานคหกรรม 1 หลัง โรงเก็บรถจักรยาน 1 หลัง ห้องน้ำห้องส้วม 3 หลัง บริเวณสนามประกอบด้วยสนามฟุตบอล 1 สนาม สนามบาสเกตบอล 1 สนาม สนามวอลเล่ย์บอล 1 สนาม สนามตะกร้อ 1 สนาม สนามแฮนด์บอล 1 สนาม สระน้ำอีก 2 สระ
นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเดินทางมาประชุม ครม.สัญจร ที่โรงเรียนพุทไธสง เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 เพื่อติดตามผลกระทบจากน้ำท่วม ได้อนุมัติการก่อสร้างอาคารชั่วคราว จำนวน 24 หลัง และอาคารเรียน จำนวน 2 หลัง
ก่อสร้างโรงอาหารและปรับปรุงโรงอาหารเดิม งบประมาณ 3,000,000 บาท จากการบริจาคของคณะครูและบุคลากร ผู้ปกครองนักเรียน ศิษย์เก่าและชุมชน
ก่อสร้างอาคารแบบน็อคดาวน์ (ชั่วคราว) จำนวน 24 หลัง (48 ห้องเรียน) เพื่อใช้จัดการเรียนการสอนทดแทนอาคารเรียนที่รื้อถอน งบประมาณ 7,368,000 บาท เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561
ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2562 – 2563 (งบผูกพัน) จำนวน 26,985,000 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนแบบ 324ล/55 – ก จำนวน 1 หลัง
จัดซื้อรถบรรทุก 6 ล้อ (รถสองแถว) จำนวน 1 คัน เป็นเงิน 1,600,000 บาท จากเงินสมาคมผู้ปกครองและคณะครูโรงเรียนพุทไธสง
ปี พ.ศ. 2565 สร้างขยายถนนคอนกรีตและเทพื้นคอนกรีตลานหน้าอาคาร 2 และสร้างโรงจอดรถหน้าอาคาร 2 ฝั่งตะวันออก
ปี พ.ศ. 2566 สร้างซุ้มนั่งเล่นข้างสนามฟุตบอล บริเวณหน้าอาคาร 1 จนถึงหน้าอาคาร 5 และเทพื้นคอนกรีตบริเวณใต้โดมอเนกประสงค์